ระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน ดังนี้
1. ฮาร์ดแวร์ (hardware) หรือ ส่วนเครื่อง
2. ซอฟต์แวร์ (software) หรือ ส่วนชุดคำสั่ง
3. ข้อมูล (data)
4. บุคลากร (people)
ภาพแสดงองค์ประกอบของระบบคอมพิวเตอร์
ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ (hardware) หมายถึง ตัวเครื่องและอุปกรณ์ส่วนต่างๆ ที่เราสามารถสัมผัสและจับต้องได้ ฮาร์ดแวร์จะประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 4 ส่วน ดังนี้คือ
1. ส่วนประมวลผล (processor)
2. ส่วนความจำ (memory)
3. อุปกรณ์รับเข้าและส่งออก (input-output devices)
4. อุปกรณ์หน่วยเก็บข้อมูล (storage device)
ภาพแสดงองค์ประกอบของฮาร์ดแวร์
ภาพแสดงคอมพิวเตอร์
หน่วยประมวลผลกลาง
หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit) หรือ เรียกคำย่อว่า ซีพียู (CPU) คำว่า ซีพียู มีความหมายทางด้านฮาร์ดแวร์ 2 อย่างด้วยกัน คือ
1. ตัวชิป (chip) ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
2. ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์หรือกล่องเครื่องที่มีซีพียูบรรจุอยู่
ความหมายส่วนที่ 2 ถ้ามองทางด้านเทคนิคแล้วจะเป็นความหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตัวซีพียูเป็นชิปคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เหมือนส่วนสมองของระบบคอมพิวเตอร์
ภาพแสดงลักษณะของซีพียูที่ใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
ซีพียูมีหน้าที่หลัก ในการควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ประมวลผล และเปรียบเทียบข้อมูล โดยทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดิบ ให้เป็นสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ความสามารถของซีพียูนั้นพิจารณาความเร็วของการทำงาน การับส่งข้อมูล การอ่านและเขียนข้อมูลในหน่วยความจำ ความเร็วของซีพียูขึ้นอยู่กับตัวให้จังหวะที่เรียกว่า สัญญาณนาฬิกา เป็นความเร็วของจำนวนรอบสัญญาณใน 1 วินาที มีหน่วยเป็นเฮิรตซ์ (hertz) ความสามารถของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้งานในปัจจุบันจะใช้ซีพียูรุ่นเพนเทียมทรี (pentium III) หรือสูงเกินโดยมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงถึง 1 จิกะเฮิรตซ์ (1 GHz) คือสัญญาณที่มีความเร็ว 1 ล้านรอบใน 1 วินาที และมีแนวโน้มที่สามารถพัฒนาให้มีความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพแสดงจำนวนรอบสัญญาณใน 1 วินาที มีหน่วยเป็นเฮิรตซ์ (hertz)
หน่วยความจำ
เราสามารถแยกประเภทของหน่วยความจำ (memory) ได้ดังนี้
1. หน่วยความจำหลัก
2. หน่วยความจำสำรอง
3. หน่วยเก็บข้อมูล
1. หน่วยความจำหลัก (Main memory) คือ หน่วยเก็บข้อมูลและคำสั่งต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยชุดความจำข้อมูลที่สามารถบอกตำแหน่งที่เก็บข้อมูลหรือคำสั่ง ข้อมูลจะถูกนำไปเก็บไว้และสามารถถูกนำออกมาใช้ในการประมวลผลในภายหลัง โดยซีพียูทำหน้าที่ในการนำข้อมูลเข้าและนำออกจากหน่วยความจำ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง การทำงานของคอมพิวเตอร์นั้นต้องใช้พื้นที่ของหน่วยความจำในการทำงานประมวลผลและเก็บข้อมูล ขนาดความจุของหน่วยความจำสามารถคำนวณได้จากค่าจำนวนพื้นที่ที่สามารถใช้ในการเก็บข้อมูล จำนวนพื้นที่คือจำนวนข้อมูลและขนาดของโปรแกรมที่สามารถเก็บได้สูงสุดในขณะทำงานถ้าพื้นที่ของหน่วยความจำมีมากจะช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วมากยิ่งขึ้นด้วย
หน่วยความจำหลักแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1.1 หน่วยความจำแบบ “แรม” (RAM = Random Access Memory)
1.2 หน่วยความจำแบบ “รอม” (Read Only Memory)
1.1 หน่วยความจำแบบ “แรม” (RAM = Random Access Memory) หน่วยความจำแรมเป็นหน่วยความจำที่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าเพื่อรักษาข้อมูล ข้อมูลหรือแฟ้มข้อมูลจะถูกเก็บไว้ชั่วคราวขณะทำงาน ข้อมูลที่อยู่ในหน่วยความจำจะอยู่ได้นานจนกว่าจะปิดเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่มีกระแสไฟฟ้าป้อนส่งให้กับเครื่อง เมื่อปิดเครื่องหรือไฟฟ้าดับข้อมูลที่ถูกเก็บไว้จะถูกลบหายไป เราเรียกว่าหน่วยความจำประเภทนี้ว่า หน่วยความจำแบบลบเลือนได้ (volatile memory)
ภาพแสดงลักษณะของหน่วยความจำ ”แรม” ที่ใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
1.2 หน่วยความจำแบบ “รอม” (ROM = Read Only Memory) เป็นหน่วยความจำที่ใช้ในการเก็บโปรแกรมหรือข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่ถาวรไม่ขึ้นกับไฟฟ้าที่ป้อนให้กับวงจร ยอมให้ซีพียูอ่านข้อมูลหรือโปรแกรมไปใช้งานอย่างเดียว ไม่สามารถเขียนข้อมูลลงไปเก็บไว้ได้โดยง่าย ต้องใช้เทคนิคพิเศษช่วย ส่วนใหญ่ใช้ในการเก็บโปรแกรมควบคุม เราเรียกหน่วยความจำประเภทนี้ว่า หน่วยความจำแบบไม่ลบเลือน (nonvolatile memory)
1. หน่วยความจำสำรอง (secondary storage) หน่วยความจำชนิดนี้มีไว้สำหรับสำรองหรือทำงานกับข้อมูลและโปรแกรมขนาดใหญ่เนื่องจากขนาดของหน่วยความจำหลักมีจำกัด หน่วยความจำสำรองสามารถเก็บไว้ได้หลายแบบ เช่น แผ่นบันทึก (floppy disk) จานบันทึกแบบแข็ง (hard disk) แผ่นซีดีรอม (CD-ROM) และจานแสงแม่เหล็ก เป็นต้น
จานบันทึกข้อมูล
ตัวจานบันทึกข้อมูลแบบแข็ง (Hard Disk) ประกอบด้วยแผ่นจานแม่เหล็กตั้งแต่หนึ่งแผ่นจนถึงหลายแผ่น และเครื่องขับจาน (Hard Disk Drive) เป็นส่วนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ มีมอเตอร์ทำหน้าที่หมุนแผ่นจานแม่เหล็กด้วยความเร็วสูง มีหัวแม่เหล็กทำหน้าที่อ่านและเขียนข้อมูลต่างๆ ลงบนผิวของแผ่นดังกล่าวตามคำสั่งของโปรแกรมหรือผู้ปฏิบัติงานต้องการโดยหัวอ่านและเขียนไม่ได้สัมผัสแผ่นโดยตรงแต่เคลื่อนที่ผ่านแผ่นไปเท่านั้นส่วนการบันทึกข้อมูลได้จำนวนมากเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับเครื่องและรุ่นที่ใช้ปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่ขนาด 500 เมกะไบต์ (Megabyte) จนถึง 80 กิกะไบต์ (Gigabyte) หรือมากกว่า
ภาพแสดงจานบันทึกข้อมูลแบบแข็ง (Hrad Disk)
แผ่นบันทึกหรือฟลอปปี้ดิสก์
แผ่นบันทึกข้อมูล (floppy disk) เป็นหน่วยความจำรอง ตัวแผ่นทำด้วยพลาสติกชนิดอ่อน มาตรฐานที่นิยมใช้ในขนาดนี้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 นิ้ว ความจุข้อมูล 1.44 เมกะไบต์ บรรจุในซองพลาสติกแข็งเพื่อป้องกันกับแผ่นบันทึกไม่ให้เสียหายง่าย ใช้เป็นสื่อในการถ่ายโอนหรือสำเนาแฟ้มข้อมูล นอกจากนี้ยังมีแผ่นบันทึกชนิดพิเศษสามารถเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมากถึง 200 เมกะไบต์หรือมากกว่านั้น เช่น ซิปดิสก์ (Zip disk) แจ๊ซดิสก์ (Jaz disk) เป็นต้น
ภาพแสดง แผ่นบันทึกข้อมูลชนิดพิเศษ และหน่วยขับแผ่นบันทึก
ซีดีรอม
ซีดี ย่อมาจากคอมแพกดิสก์ และรอมเป็นคำเดียวกับหน่วยความจำแบบรอมคือคำว่า Read Only Memory แผ่นซีดีรอม (CD-ROM) หรือ แผ่นซีดี เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านข้อมูลที่บันทึกไว้ออกมาใช้ ไม่สามารถบันทึกข้อมูลลงไปได้ ใช้อ่านอย่างเดียว ลักษณะคล้ายแผ่นซีดีเพลง ใช้ระบบเสียงเลเซอร์ในการอ่านข้อมูลที่เก็บเป็นได้ทั้งตัวอักษร ตัวเลข เสียง และภาพก็ได้ มีความจุประมาณ 650 เมกะไบต์ หรือมีความจุมากกว่าแผ่นเก็บข้อมูลประมาณ 450 เท่า หรือสามารถเก็บข้อมูลจากหนังสือประมาณ 500 เล่ม
ภาพแสดง แผ่นซีดีรอม 1 แผ่น สามารถเก็บข้อมูลเท่ากับหนังสือ 500 เล่ม หรือมีความจุเท่าแผ่นบันทึก 450 แผ่น
ดีวีดี
ดีวีดี (DVD หรือ Digital Versatile Disk) เป็นแผ่นซีดีที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยแผ่นดีวีดีสามารถเก็บข้อมูลได้ไม่ต่ำกว่า 4.7 จิกะไบต์ คาดหมายว่าแผ่นดีวีดีจะถูกนำมาใช้แทนซีดี-รอม เลเชอร์ดิสก์ หรือแม้แต่วิดีโอเทป
ภาพแสดง อุปกรณ์เก็บข้อมูลชนิด DVD-ROM
จอภาพ
จอภาพ (monitor) เป็นอุปกรณ์แสดงข้อมูลผลลัพธ์ที่เกิดจากการประมวลผลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถแสดงผลได้ทั้งตัวหนังสือ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว โดยทั่วไปนิยมใช้แบบจอภาพสี สามารถแสดงระดับความแตกต่างของสีตั้งแต่ 16,256,65,536 และ 16,177,216 สีความละเอียดของจุดภาพที่เรียกว่าพิกเซล (pixel) ในการแสดงผลที่ปรากฏบนหน้าจอภาพขึ้นอยู่กับขนาดแมทริกซ์ของการแสดง เช่น 640 x 480, 800 x 600, 1024 x 768 และ 1280 x 1024 จุด
ภาพแสดงจอภาพแบบต่างๆ
แผงแป้นอักขระ
แผงแป้นอักขระหรือแป้นพิมพ์ (keyboard) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถรับเข้าข้อมูลจากการกดแป้นพิมพ์เพื่อส่งต่อไปให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ แป้นพิมพ์ที่นิยมใช้จะมี 101 แป้น และแยกแป้นอักขระและตัวเลขออกจากกัน ส่วนบนจะเป็นแป้นคำสั่งพิเศษเพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
ภาพแสดงแป้นพิมพ์
เมาส์
เมาส์ (mouse) เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายตัวหนู ส่วนของสายสัญญาณจากตัวอุปกรณ์ที่ต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายส่วนหางหนู เราใช้เมาส์ในการควบคุมตัวชี้ (Pointer) ที่ปรากฏบนจอภาพให้สามารถเลื่อนไปสู่ตำแหน่งต่างๆ ที่ต้องการได้โดยง่ายสามารถใช้ร่วมกับโปรแกรมในการควบคุมคำสั่งก็ได้ จะมีปุ่มควบคุม 2 ปุ่ม ด้วยกันโดยทำหน้าที่แตกต่างกันดังนี้
1. ปุ่มซ้ายมือถ้ากดหนึ่งครั้งหมายถึงการเลือกและถ้ากดสองครั้งติดต่อกันหมายถึงสั่งให้โปรแกรมหรือสั่งรูปที่เลือกทำงาน
2. ปุ่มขวามือถ้ากดให้แสดงฟังก์ชันพิเศษโดยใช้ตัวชี้เป็นตัวเลือกฟังก์ชันที่ต้องการได้
|
ในปัจจุบันมีการพัฒนาเมาส์ให้มีรูปร่างสวยงามและกะทัดรัดต่อการใช้งาน บางรุ่นอาจมีลูกกลมควบคุม (track ball) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้ด้วย
หมายเหตุ ปัจจุบันเมาส์ได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงทันสมัย ใช้งานง่ายและสะดวกเพราะบางรุ่นไม่ต้องใช้ลูกกลิ้ง และมีจำนวนปุ่มเมาส์มากถึง 4 ปุ่ม ทั้งยังติดตั้งปุ่มควบคุม Scroll สำหรับการเลื่อนเอกสารขึ้นลงโดยไม่ต้องเคลื่อนเมาส์ และด้วยเทคโนโลยีใหม่กับการส่งสัญญาณด้วยแสง ทำให้สามารถเคลื่อนเมาส์ได้รวดเร็วบนพื้นผิวทุกประเภท
บุคลากร (people)
บุคลากรคอมพิวเตอร์ (Peopleware) หมายถึงกลุ่มบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และโปรแกรม เช่น นักเขียนโปรแกรม (Programmer) เ ป็นผู้นำทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนาโปรแกรม นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) เป็นผู้วิเคราะห์ปัญหาและระบบงานที่มีอยู่แล้วเพื่อแก้ปัญหาและออกแบบระบบใหม่ให้ดีกว่าเดิม ผู้บริหารระบบ (System Administrator) เป็นผู้ควบคุมจัดการระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คนเหล่านี้เชี่ยวชาญด้านระบบงานคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องมีไว้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปที่อาจไม่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เลย ให้พวกเขาสามารถใช้บริการระบบสารสนเทศได้อย่างสะดวก และยังเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่รู้ของผู้ใช้ได้
บุคลากรคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบบคอมพิวเตอร์เพราะแต่เดิมนั้น คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ใช้ยาก บุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์จะต้องมีความรู้ในระดับผู้ชำนาญการที่เดียว แต่ในปัจจุบัน การใช้งานคอมพิวเตอร์มีหลายระดับ ในระดับพื้นฐานนั้นการใช้งานจะง่ายมาก เพราะทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สมัยใหม่ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน เรียกว่า “ เป็นมิตรต่อผู้ใช้ ” ( User friendly ) ผู้ใช้งานในระดับนี้ เมื่อได้รับการฝึกหัดเพียงเล็กน้อยก็สามารถเริ่มใช้ได้ทันที อย่างไรก็ตาม ระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มักมีการต่อเชื่อมกับเครือข่าย ซึ่งส่วนนี้ยังมีความยุ่งยากพอสมควรนอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง ไวรัสคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมชนิดหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ ไวรัสคอมพิวเตอร์เกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดี หรือ นักศึกษาที่หลงผิด ( ร้อนวิชาและอยากทดลองใช้วิชาในทางที่ผิด ) ผลิตขึ้นมาโดยมีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงยังมีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรคอมพิวเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญมาดูแลระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมาก และมีการเชื่อมต่อกับเครือข่าย
บุคลากรคอมพิวเตอร์ที่สำคัญ ได้แก่
- ผู้ดูแลระบบ (System Administrator)
- นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst)
- นักเขียนโปรแกรม (Programmer)
- วิศวกรระบบ (System Engineer)
- วิศวกรเครือข่าย (Network Engineer)
- ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ระดับสูง (Super User)
- ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป (User)
ผู้ดูแลระบบ (System Administrator)
ผู้ดูแลระบบ หรือ แอดมิน (อังกฤษ: System administrator, systems administrator หรือ sysadmin) เป็น บุคคลที่ถูกว่าจ้างเพื่อที่จะดูและจัดการระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หน้าที่ของผู้ดูแลระบบมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับหน่วยงานหรือโครงการ โดยทั่วไปผู้ดูแลมักจะทำหน้าที่ติดตั้ง ตอบคำถาม ดูแลเซิร์ฟเวอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่น รวมถึงการวางแผนงาน การดูแล ควบคุมโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ผู้ดูแลอาจมีหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ร่วมไปด้วย ในด้านการเขียนโปรแกรม รวมไปถึงการเตรียมตัว และสอนการใช้งานต่อผู้ใช้ทั่วไป
นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst)
บุคลากรด้านการวิเคราะห์และออกแบบระบบงาน จะมีหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้รวมไปถึงผู้บริหารของหน่วยงานนั้น ๆ ด้วยว่าต้องการระบบโปรแกรมหรือลักษณะงานแบบไหน อย่างไร เพื่อจะพัฒนาระบบงานให้ตรงตามความต้องการมากที่สุด หน้าที่ดังกล่าวอาจรวมถึงการออกแบบกระบวนการทำงานของระบบโปรแกรมต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย ซึ่งมักจะใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากที่สุดเนื่องจากต้องคอยสอบถามความต้องการเพื่อวิเคราะห์งานอยู่เสมอ
นักเขียนโปรแกรม (Programmer)
เมื่อนักวิเคราะห์ระบบทำการวิเคราะห์ระบบงานเสร็จสิ้น ก็จะส่งต่อมายังผู้ที่ชำนาญในเรื่องของการเขียนโปรแกรมโดยเฉพาะเพื่อสร้างระบบงานนั้นให้ออกมาใช้งานได้จริง ๆ เราเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า นักเขียนโปรแกรม หรือ Programmer นั่นเอง โปรแกรมที่มีขนาดเล็กมาก นักเขียนโปรแกรมเพียงคนเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการเขียนชิ้นงานนั้น หน่วยงานบางแห่งจึงต้องมีทีมงานจำนวนมาก เพื่อรองรับกับการเขียนโปรแกรมดังกล่าว วิธีการเขียนอาจแบ่งกลุ่มโปรแกรมออกเป็นส่วนย่อย ๆ ที่เรียกว่าโมดูล (module) แล้วกระจายงานออกไปให้กับแต่ละคน จากนั้นจึงจะนำเอาโมดูลที่ได้กลับมารวมกันเป็นโปรแกรมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วยลดเวลาในการเขียนโปรแกรมลงไปได้มาก
วิศวกรระบบ (System Engineer)
คือ บุคลากรที่ทำหน้าที่ออกแบบ สร้าง ซ่อมบำรุงและดูแลรักษาฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของฮาร์ดแวร์ หลักการทำงานของฮาร์ดแวร์ สามารถออกแบบฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ได้ มีความรู้ระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
วิศวกรเครือข่าย (Network Engineer)
เป็นผู้ออกแบบและดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ CNE (Computer Network Engineering) กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน เพราะการทำงานบนคอมพิวเตอร์กำลังเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น การทำงานบนเครือข่าย แทนการทำงาน บนเครื่องเดียว (Standalone computer) CNE ทำงานในบริษัทด้าน ออกแบบเครือข่าย, ศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคาร และบริษัทด้านอินเตอร์เน็ต และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ระดับสูง (Super User)
หมายถึง ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่สามารถประยุกต์โปรแกรมเพื่อสร้างผลงานต่าง ๆ ตารมต้องการ เช่น การสร้างต้นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยโปรแกรม Adobe Pagemaker , Adobe InDesign การสร้างสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยโปรแกรม Authorware หรือ Captivate การออกแบบบ้านหรือ เครื่องยนต์กลไกลด้วยโปรแกรม CAD - Computer Aided Drafting/Design การสร้างสื่อในระบบเครือข่ายด้วยโปรแกรม LMS (Learning Management System) การคำนวณค่าสถิติด้วยโปรแกรม SPSS เป็นต้น
ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป (User)
หมายถึง ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป สามารถทำงานตามหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆ เช่น การพิมพ์งาน การป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น